พระกริ่ง ทีอ๋อง มาจากภาษาจีน ว่า เฑาะทะลีทีอ๋อง ท้าวโลกบาลที่เฝ้าสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ประจำอยู่ด้านทิศตะวันตก มีหน้าที่ดูแลพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้า…..
พระกริ่งทีอ๋อง เป็น 1 ในตระกูล พระกริ่งนอก ที่พ่อค้าชาวจีนนําเข้ามาเผยแพร่ในแผ่นดินสยาม ตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา พร้อม พระกริ่งจีนใหญ่ พระกริ่งใหญ่ พระกริ่งบาเก็ง พระกริ่งหนองแส มีชื่อเสียงราคาสูง รวมเรียกว่า เทียมตั้งโงโจว หมายถึง 5 ศาสดาแห่งโลกธาตุ…..
ศิลปะพระเป็น สกุลช่างมณฑลซัวไซ อายุการสร้างอยู่ในสมัย ราชวงศ์ถัง (พ.ศ.1349-1363) ออกแบบให้พระกริ่งนุ่งห่มแบบนักบวชจีน…..
ในมือ พระกริ่งทีอ๋อง ถือเจดีย์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของ เจดีย์ 9 ชั้น ในนครลก-เอี๋ยงในสมัย พระเจ้าถังเหียงจง เพื่อสื่อความหมายว่า มีการบูชาพระบรมธาตุ ที่สมณทูตจากอินเดีย ได้นำพระพุทธศาสนาเข้ามาถวายเป็นครั้งแรก จึงสร้างเจดีย์ 9 ชั้นบรรจุพระบรมธาตุไว้…..
ราชวงศ์ถัง ถือเป็นยุคทองของพระพุทธศาสนาในจีน นอกจาก พระเจ้าถังเหียงจง จะทำนุ บำรุงพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรืองสุดๆ ยังมี พระภิกษุ ชื่อ พระถังซัมจั๋ง บากบั่นไปศึกษาธรรมะถึงอินเดีย และเดินทางนมัสการปูชนียสถานของพระพุทธเจ้าไปทั่ว ใช้เวลาทัวร์รวมแล้ว 16 ปี (จนเป็นตำนานเรื่อง ไซอิ๋ว ที่ พระถังซัมจั๋ง ถูกมารขัดขวาง ไม่ให้ไปรับพระไตรปิฎก แต่ได้ เห้งเจี้ย ตือโป๊ยก่าย ช่วยจนสำเร็จ) กลับมาก็เผยแพร่ธรรมะในจีน และเขียนบันทึกการเดินทาง ซึ่งเป็นบันทึกสำคัญของโลกไว้…..
พระพุทธศาสนาเข้าไปเมืองจีนครั้งแรกในสมัย ราชวงศ์ฮั่น ตรงกับพุทธศตวรรษที่ 6 ในสมัย จักรพรรดิฮั่นเม้งเต้ เพราะทรงพระฝันแปลก เมื่อซินแสหลวงทำนายทายทัก จึงส่งทูตไปอินเดียเพื่อนำพระพุทธศาสนากลับมา…..
รู้ไว้หน่อยก็ดี สำหรับ พระเจ้าถัง-เหียงจง นอกจากสนพระทัยเรื่องพระพุทธศาสนา ยังปรับปรุง งิ้ว มหรสพที่เกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยเลียดก๊ก ให้ดียิ่งขึ้น จนเวลามีการแสดงงิ้ว จะมีคนแต่งเป็น พระเจ้าถัง-เหียงจง ออกมาร่ายรำสรรเสริญการแสดงงิ้วก่อน เพราะถือว่าทรงเป็น บรมครูงิ้ว…..