ท่านพระครูสังฆ์ ได้สร้างปลุกเสกวัตถุมงคลต่าง ๆ หลายรุ่น เช่น
พระพิมพ์สมเด็จ หลังดอกจันทร์และหลังยันต์ห้า ในปี ๒๔๘๕ เรียกว่า “รุ่นอินโดจีน” มีมากหลายพิมพ์ เช่น
พิมพ์แซยิด(ข้างยันต์)
พิมพ์แขนกลม
พิมพ์แขนหักฯอก
พิมพ์ฐานคู่
พิมพ์สามชั้นฐานหมอน
พิมพ์อุ้มบาตร
พิมพ์พระประจำวัน
เป็นพระรุ่นแรกที่ท่านได้สร้างขึ้นตอนที่มีสมณะศักดิ์เป็น “พระครูสังฆรักษ์” คนทั่วไปนิยมเรียกชื่อ พระรุ่นนี้ว่า “พระสมเด็จพระครูสังฆ์” พระพิมพ์สมเด็จรุ่นนี้ ใส่ผงพุทธคุณวิเศษที่ท่านเสกและลบเอง ผงพระสมเด็จของหลวงปู่ภูอีกส่วนหนึ่ง และที่สำคัญที่สุดตามประวัติที่วัด ได้ผสมผงพระสมเด็จบางขุนพรหมที่หักชำรุดซึ่งสร้างโดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆังโฆสิตาราม ลงไปมากที่สุด ใส่กันหลายบุ้งกี๋ มากกว่าพระสมเด็จบางขุนพรหมปี ๒๕๐๙ เสียอีก แล้วไปเอาผงพระสมเด็จบางขุนพรหมที่หักชำรุดมาจากไหน????
……พระครูสังฆ์ ท่านย้ายมาเป็นเจ้าอาวาสวัดอินทร์แทนหลวงปู่ภูเมื่อปี ๒๔๖๗ ได้เริ่มงานก่อสร้างองค์หลวงพ่อโตยืนอุ้มบาตรที่ค้างคาอยู่ และได้สำรวจพบว่ามี พระสมเด็จกองอยู่ข้างบนมากมายในลักษณะที่เตรียมจะบรรจุในองค์หลวงพ่อโตองค์นี้ เข้าใจกันว่าสมเด็จพระพุฒาจารย์ โต ท่านสร้างพระเหล่านี้ไว้เตรียมที่จะบรรจุ แต่ท่านก็มรณภาพเสียก่อน และน่าจะเป็นไปได้ว่า ตอนสร้างพระสมเด็จบางขุนพรหมต้องมีพระส่วนหนึ่งชำรุดอยู่เป็นอันมาก ที่เหลือจากไม่ได้บรรจุเข้าเจดีย์ที่วัดใหม่อมตรส และยังสันนิษฐานว่าก่อนที่จะนำพระสมเด็จบางขุนพรหมที่ปลุกเสกแล้ว บรรจุเข้าเจดีย์ซึ่งเสมียนตราด้วงบูรณะ ได้มีการแบ่งพระสมเด็จบางขุนพรหมบางส่วน นำขึ้นไปกองบนองค์หลวงพ่อโตเพื่อเตรียมการบรรจุกรุด้วย
พระครูสังฆ์ ท่านได้ให้ช่างชาวจีนที่เป็นแรงงานในการก่อสร้าง ขนเอาลงมา ซึ่งส่วนมากเป็นพระแตกหักชำรุด ท่านได้นำพระสมเด็จเหล่านี้ มาบดให้ละเอียด เติมปูนขาวกับดินสอพองและน้ำมันตั๊งอิ้วลงไปผสมแล้วกดพิมพ์พระออกมาในรูปแบบของพระใหม่ โดยใช้แม่พิมพ์จากพระหลวงปู่ภูบ้าง แกะพิมพ์ขึ้นมาใหม่เองบ้าง เมื่อสร้างครบ ๘๔,๐๐๐ องค์แล้ว จึงได้ทำพิธีปลุกเสก โดยนิมนต์พระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงคุณวุฒิทางด้านวิทยาคม ในยุคโน้นมาร่วมปลุกเสก หลังจากเสร็จพิธีได้นำพระมาแจกสมนาคุณแก่ผู้ที่บริจาคทรัพย์ สมทบทุนก่อสร้างองค์หลวงพ่อโต ในราคาองค์ละ ๑ บาท เนื่องจากเป็นพระที่ใส่ผงเก่ามากเพราะใช้พระสมเด็จที่แตกหักชำรุดจำนวนมาก มาโขลก ตำป่นให้ละเอียด แล้วกดพิมพ์ขึ้นมาใหม่ จำนวนพระที่สร้างไม่มาก แต่ผงเก่าจำนวนมากมาย ดังนั้นเนื้อพระรุ่นนี้จึงแก่ผงพระสมเด็จ หากใช้แว่นขยายส่องดูให้ดี จะเห็นชิ้นส่วนของพระสมเด็จชิ้นเล็กชิ้นน้อยปรากฏอยู่ในเนื้อพระมากมาย ส่วนใหญ่พระพิมพ์สมเด็จพระครูสังฆ์ จะมีสีขาวอมเหลือง ผิวเหนอะจากคราบน้ำปูนที่ลอยอยู่บนหน้า มีความหนึกและนุ่มคล้ายพระสมเด็จบางขุนพรหมกรุเก่า เนื้อจัดมาก อย่างกับพระของหลวงปู่ภู