== ถ้าพูดถึง “พระเครื่องแห่งองค์จักรพรรดิ” เซียนพระรุ่นเก่าเขาชี้นิ้วไปที่ “พระโคนสมอ” ด้วยประวัติศาสตร์คำบอกเล่า (Oral History) ระบุว่า พระเครื่อง ฯ ชุดนี้ ถูกสร้างขึ้นโดยองค์บูรพกษัตริยาธิราชเจ้า ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี มิใช่ทรงสร้างเพื่อ “สืบอายุพระพุทธศาสนา” แต่เพียงอย่างเดียว ทว่ายังทรงมีพระราชประสงค์เพื่อ “ป้องกันพระนคร” ด้วย โดยพระเครื่อง ฯ ชุดนี้จะถูกนำไปเป็น “หนึ่งในเครื่องพิชัยยุทธ์” เมื่อพระองค์เสด็จ ฯ เป็นจอมทัพออกกระทำยุทธนาการปกบ้านป้องเมือง เรียกว่าพระโคนสมอนี้อยู่เคียงข้างองค์พระมหากษัตริย์มาตั้งแต่ครั้งบรรพกาลก็มิผิดแต่ประการใด นอกจากนี้ยังทรงพระราชทานแจกจ่ายให้แก่บรรดาแม่ทัพนายกอง ตลอดจนทหารหาญ เช่น พวกกองอาทมาตทะลวงฟัน ก่อนออกไปปฏิบัติภารกิจเป็นทัพหน้าปะทะข้าศึก ตามความเชื่อในกระบวนพิชัยสงครามที่ว่าด้วยวิชา “แต่งคนออกศึก” หรือ “แต่งทัพจัดคน”
จากประวัติศาสตร์คำบอกเล่า ยังระบุด้วยว่า พระโคนสมอถูกสร้างขึ้นที่เมืองพิษณุโลก โดยการสร้าง ตลอดจนพิธีกรรมพุทธาภิเษกกระทำกันต่อหน้าพระพักตร์องค์หลวงพ่อพระพุทธชินราช และก็นำพิมพ์ทรงของหลวงพ่อพระพุทธชินราช ซึ่งมีองค์พระประทับนั่งอยู่ในซุ้มเรือนแก้วมาเป็นต้นแบบในการจัดสร้าง แต่ได้ประยุกต์พิมพ์ทรงเป็นปางประจำวันต่าง ๆ ตามความเชื่อใน “คัมภีร์มหาทักษา” ที่ว่าด้วยเรื่องเทวดานพเคราะห์และกำลังวัน อันเป็นหนึ่งในวิชาโหราศาสตร์ที่นิยมกันสมัยกรุงศรีอยุธยา ทางด้านเนื้อหานั้นมีหลายประเภทด้วยกัน ทั้ง ดิน ชิน และว่าน. …ด้านพระพุทธคุณนั้น มีประสบการณ์อย่างมากมายครบเครื่อง โดยเฉพาะเรื่องคงกระพันชาตรี แคล้วคลาด อันรวมไปถึงมหาอุด ตลอดจนป้องกันเขี้ยวงา นักเลงพระรุ่นเก่าต่างยกนิ้วให้ว่า อยู่ในระดับแถวหน้า และถ้าจะว่าไปแล้ว พระโคนสมอนี้เองที่ทำให้กรมหลวงชุมพรฯ ทรงเชื่อและเลื่อมใสในพระพุทธคุณ เพราะนำไปลองยิงด้วยพระแสงปืนแต่ไม่ออก แต่ที่สร้างชื่อมากที่สุด ก็เห็นจะเป็นเหตุการณ์ ทหารไทยได้รับเหรียญกล้าหาญบรอนซ์สตาร์เป็นเหรียญแรกในสมรภูมิสงครามเกาหลี หลังจากยิงสู้จนกระสุนหมด และได้ตัดสินใจวิ่งฝ่ากระสุนปืนกลหนัก เพื่อนำระเบิดขว้างใส่ข้าศึก โดยตนเองไม่ได้รับอันตราย ซึ่งทหารไทยนายนั้นรอดมาได้ เพราะมีพระโคนสมอชินเงินพิมพ์ห้อยพระบาทห้อยคอ เพียงองค์เดียวเท่านั้นเอง.
…… Credit จากคอลัมภ์เก่าอมตะ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ 13/6/50…
พระโคนสมอ
฿1,500.00
พระโคนสมอเป็นพระสมัยอยุธยายุคปลายต่อเนื่องรัตนโกสินทร์ตอนต้น เป็นพระขนาดใหญ่พบเนื้อดินมากกว่าเนื้อชิน จะเป็นพิมพ์ประจำวันเกิดเป็นส่วนมาก ประวัติเล่ากันว่าเมื่อเสียกรุงศรี ฯ พระชุดนี้ถูกทิ้งไว้นานเมื่อสร้างกรุงเทพ ฯ ก็ขนจากอยุธยามาบรรจุไว้ตามวัดต่าง ๆ บางส่วนนำมากองไว้ที่โคนต้นสมอภิเภกหน้าพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติข้างสนามหลวง คนเดินผ่านก็หยิบไปคนละองค์สององค์เพราะความสวย พระจากอยุธยาจึงมีชื่อใหม่ที่กรุงทพ ฯ ตรง “โคนต้นสมอ” พระโคนสมอที่นำมาจากอยุธยาบางวัดก็สร้างเพิ่มใหม่เพื่อบรรจุกรุร่วมกัน (กรุเก่าอยุธยาเนื้อจะละเอียดนุ่มรักทองติดแน่น กรุใหม่รัตนโกสินทร์เนื้อจะหยาบรักทองใหม่สดกว่า) องค์นี้เป็นพิมพ์ห้อยพระบาทไม่ทราบว่ากรุเก่าหรือกรุใหม่ ขนาด 5.5 x 8.5 ซม. ลงรักปิดทองล่องชาดสวยงามสมบูรณ์มาก สภาพ คม ชัด ลึก 1,500.- บาทประกันแท้ครับ.