พระกรุวัดคูยางส่วนใหญ่จะเป็นเนื้อดินที่ละเอียดนุ่มหนักแน่นมีราดำปรากฏทั่วไป ส่วนมากเป็นสีแดงคล้ำ บางองค์จะมีไขจับ และบางส่วนไม่มีราว่านหรือมีแต่เพียงบาง ๆ มีไขจาง ๆ บางองค์ที่มีคราบราหนา ๆ ก็จะเทียบกับพระกรุเก่าได้เลย มีความแห้งและเก่า แม้จะดูสดกว่าพระกรุเก่าก็ตามที พร้อมทั้งมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง ในส่วนที่เกี่ยวกับแบบพิมพ์พระกรุวัดคูยางที่สร้างโดย พระครูธรรมาธิมุตมุนี ( กลึง ) นั้นมีทั้งพิมพ์ที่ทำขึ้นเองและถอดพิมพ์มาจากพระอื่น ๆ ส่วนใหญ่จะตื้นไม่ลึกและไม่คมชัดเท่าที่ควร ถึงกระนั้นก็มีหลายพิมพ์ที่ยังคงความงามอยู่ไม่น้อยสำหรับพระที่สร้างพิมพ์ขึ้นเองก็มีพระปิดตาสี่ทิศ ด้านหน้าจะมียันต์ ๕ ตัว คือ ตรงกลาง ๑ ตัว ช่องว่างระหว่างองค์พระทั้ง ๔ ทิศอีก ๔ ตัว ซึ่งยันต์ทั้ง ๕ ตัวนี้ เป็นยันต์เดียวกันกับพระของพระพุทธบาทปิลันธน์ เช่น พิมพ์ซุ้มประตู เป็นต้น ด้านหลังตรงกลางทำเป็นรูกลมลึกเข้าไปในเนื้อและก้นรูมียันต์ ๑ ตัว แต่ก็พบพระปิดตาสี่ทิศบางองค์ไม่มียันต์ด้านหลัง อาจจะหลงลืมในการกดพิมพ์ หรือพระบางเกินไปกดพิมพ์ให้ลึกเป็นรูไม่ได้ หรือจะคิดว่าเป็นพระคะแนนก็เป็นได้ นอกจากนี้ยังพบพระพิมพ์อื่น ๆ อีก เช่น พระนารายณ์สี่กร ( ทรงปืน ) เป็นต้น ซึ่งเป็นพิมพ์ที่ทำขึ้นเองเช่นกัน มียันต์ที่ก้นรูด้านหลัง เช่นเดียวกับพระปิดตาสี่ทิศอยู่บ้าง แต่ก็หาดูได้ยากมาก พระที่ถอดจากพระพิมพ์เก่านั้น ส่วนใหญ่จะเป็นพระของกำแพงเพชร แต่ก็จะมีจำนวนหนึ่งที่เป็นพิมพ์ของพระจังหวัดอื่น ๆ เช่น พระสมเด็จปรกโพธิ์ พระพุทธบาทปิลันธน์ พระกริ่งคลองตะเคียน และพระพลายเดี่ยว เป็นต้น ส่วนพระคงกับพระรอดนั้น ไม่ได้ถอดพิมพ์มาแต่ล้อรูปแบบเดิมได้ใกล้เคียงจึงอนุโลมไว้ในกลุ่มนี้ สรุปพระกรุวัดคูยางนั้นเป็นที่ทราบกันว่ามีมากกว่า ๔๐ พิมพ์ แต่เท่าที่มีผู้พบเห็นก็คือพระปิดตาสี่ทิศขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ พระซุ้มกอขนมเบี๊ยะ พระซุ้มยอ พระขุนไกร พระคง พระร่วงนั่งฐานสำเภา พระนางกำแพงมีซุ้ม พระนางกำแพงหัวเรือเมล์ พระกริ่งคลองตะเคียน พระอู่ทอง พระชินราชใบเสมา พระยอดขุนพล พระซุ้มยอไม่ตัดปีก ( ฝากกรุ ) พระลีลาเม็ดขนุนขนาดเล็ก และใหญ่ พระสมเด็จปรกโพธิ์พระสมเด็จฐาน ๓ ชั้น พระซุ้มระฆัง พระพลายเดี่ยว พระอู่ทองซุ้มเรือนแก้ว พระนารายณ์สี่กร ( ทรงปืน ) พระสุพรรณหลังผาน ( หลังเรียบ ) พระรอด พระนาคปรก ( ๓ – ๔ พิมพ์ ) พระเปิดโลกเม็ดทองหลาง พระลีลาใหญ่ ( ๓ – ๔ พิมพ์ ) พระเชตุพน พระซุ้มกอเล็ก และพระซุ้มกอใหญ่ ( ขนาดพิมพ์กลางของเดิม ) และพิมพ์อื่น ๆ
พระกรุวัดคูยาง
เมื่อพูดถึงพระกรุวัดคูยาง ก็อดที่จะกล่าวถึงพระสงฆ์ผู้ที่คนเคารพนับถือว่าเป็นผู้ทรงวิทยาคุณ ขนานนามว่าพระเกจิอาจารย์เสียมิได้ โดยเฉพาะในส่วนของวัดคูยางแล้วก็นับว่าเป็นที่รู้จักและยอมรับนับถือของคนทั่วไป ไม่น้อยไปกว่าวัดอื่นๆเลย เช่น พระครูธรรมาธิมุตมุนี (กลึง) พระครูเมธีคณานุรักษ์ (ปลั่ง) ต่อมาได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระวิเชียรโมลีและพระวิเชียรธรรมคณี (ทองพาน) อดีตเจ้าอาวาสวัดคูยางและอดีตเจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชรทั้ง ๓ รูป เป็นต้น โดยเฉพาะพระครูธรรมาธิมุตมุนี (กลึง) ซึ่งเป็นพระเกจิอาจารย์ร่วมสมัยกับหลวงพ่อขำ อินทะปัญญา วัดลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร หลวงพ่อศุข วัดปากคลอง มะขามเฒ่า จังหวัดชัยนาท และหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน จังหวัดพิจิตร เป็นต้น
ประวัติการสร้าง
พระครูธรรมาธิมุตมุนี (กลึง) ผู้สร้างพระต่างๆ บรรจุไว้ในเจดีย์ในราว พ.ศ. ๒๔๔๔ ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่ พระยาตะก่า ได้ขออนุญาตบูรณะเจดีย์วัดพระบรมธาตุ นครชุม โดยรวมเจดีย์ทั้ง ๓ องค์ ให้เหลือเพียงองค์เดียวแต่ใหญ่ขึ้นดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบันและในการบูรณะครั้งนั้น น่าจะมีพระครูธรรมาธิมุตมุนี (กลึง) ซึ่งเป็นผู้ปกครองวัดและพระสงฆ์สามเณรในจังหวัดนี้เป็นแม่กองงานบูรณะฝ่ายสงฆ์ด้วย ฉะนั้นในการสร้างพระบรรจุที่กรุวัดคูยางของท่าน ส่วนหนึ่งได้นำพระกรุเก่าที่ชำรุดจากเจดีย์วัดพระบรมธาตุมาซ่อมแล้วบรรจุไว้ด้วย นอกจากนี้ในการสร้างพระของท่าน มีหลักฐานเชื่อได้ว่าได้นำผงพระพุทธคุณของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) และผงพระพุทธบาทปิลันธน์ผสมลงไปด้วย โดยพิสูจน์ได้จากพระกรุวัดคูยางบางองค์ที่หักชำรุดจะเห็นผงสีขาว บางองค์มีผงใบลานเผาปนอยู่ด้วยและบางองค์ยังมีไขคล้ายพระของพระพุทธบาทปิลันธน์อยู่บ้าง ข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งคือ พระที่หักชำรุดมีผงสีขาวปรากฏให้เห็นนั้น มักเป็นองค์ที่ไม่มีคราบราว่านหรือมีเพียงบางๆ แต่พระส่วนใหญ่จะมีคราบราว่านสีดำปนน้ำตาลแก่จับหนาแน่นไม่แพ้กรุเก่าเมืองกำแพงเพชรเลย เพียงแต่เนื้อพระดูจะสดกว่าหน่อยเท่านั้น เนื้อพระกรุเก่าของวัดคูยางนี้ จะใกล้เคียงกับเนื้อพระกรุวัดคุ้งยางใหญ่ ่จังหวัดสุโขทัย เช่น พิมพ์สมเด็จสี่เหลี่ยมล้อพิมพ์สมเด็จ เนื้อและคราบราจะคล้ายคลึงกันมาก ต่างกันก็แต่กรุวัดคุ้งยางใหญ่ จะมีจารอักขระด้านหลังด้วยถ้าไม่มีจารก็แทบจะแยกไม่ออกว่าเป็นกรุวัดไหน ฉะนั้นความแตกต่างก็จะอยู่ที่พิมพ์พระเป็นสำคัญ แต่ก็มีบางพิมพ์ที่คล้ายกันมากทั้งเนื้อและพิมพ์ก็คือพิมพ์สมเด็จปรกโพธิ์ซึ่งล้อพิมพ์สมเด็จพระพุทธบาทปิลันธน์ เพียงแต่จะเล็กหรือใหญ่กว่ากันบ้างเพราะไม่ได้ใช้พิมพ์เดียวกัน
เกียรติคุณของผู้สร้าง
พระครูธรรมาธิมุตมุนี (กลึง) เป็นพระสงฆ์ที่เพียบพร้อมไปด้วยศีลาจารวัตร ทรงวิทยาคุณและอภินิหาร เป็นที่เคารพเลื่อมใสอย่างสนิทใจของสงฆ์และคฤหัสถ์ มีความรู้ความชำนาญทั้งด้านปริยัติและปฏิบัติ ด้านสมณศักดิ์ก็เป็นพระครูสัญญาบัตรรูปแรกของเมืองนี้ ด้านการปกครองสงฆ์ก็เป็นเจ้าคณะเมืองหรือเจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร ด้านการศึกษาก็นับเป็นหนึ่งมีโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกบาลีภายในวัดจนมีผู้สอบมหาเปรียญได้แล้วท่านก็ส่งไปเรียนต่อที่กรุงเทพฯ ด้านสาธารณูปการคือการบูรณะปฏิสังขรณ์และการก่อสร้างศาสนวัตถุ โดยเฉพาะภายในวัดปรากฏชัดเจนดังหนังสือตรวจการณ์คณะสงฆ์จังหวัดกำแพงเพชรและจังหวัดตากของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๖ ตอนหนึ่งว่า “…………วัดคูยางนี้เป็นวัดใหญ่ของเมืองกำแพงเพชร เคยเป็นวัดเจ้าคณะเมือง เจ้าคณะเมืองรูปก่อนคือพระครูธรรมาธิมุตมุนี (กลึง) เป็นพระกว้างมาก ได้ก่อสร้างปฏิสังขรณ์พระเจดีย์ โบสถ์ วิหาร และศาลาการเปรียญไว้ดีเป็นหลักฐาน………”
การเปิดกรุ
นับเป็นเวลาหลายปีก่อนหน้านี้ มีผู้แสวงหาพระที่พระครูธรรมาธิมุตมุนี (กลึง) สร้างกันมากขึ้น จึงอาจเป็นเหตุให้มีการลักลอบขุดเจาะเจดีย์กันหลายครั้งโดยเฉพาะในราวกลางปี พ.ศ. ๒๕๑๓ มีการลักขุดเจาะฐานเจดีย์เป็นช่องขนาดใหญ่จนทำให้เจดีย์ชำรุด และเมื่อต้นเดือนธันวาคมปีเดียวกันนี้ ก็มีการลักขุดกันอีก ทางวัดได้ปรึกษาผู้เกี่ยวข้องแล้วเห็นสมควรตั้งคณะกรรมการโดยมีพระสิทธิวชิรโสภณ (ช่วง) เจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร พระครูวิมลวชิรคุณ (ทอน) เจ้าอาวาสวัดคูยางและนายบุญรอด โขตะมังสะ ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร เป็นต้น ทำการเปิดกรุปรากฏว่ามีทั้งพระกรุเก่าหรือพระฝากกรุและพระที่พระครูธรรมาธิมุตมุนีสร้างบรรจุไว้ทั้งประเภท พระบูชาและพระเครื่องจำนวนมากโดยเฉพาะในส่วนที่เป็นพระเครื่องมีประมาณ ๓,๐๐๐ องค์ ซึ่งเหลือจากที่มีผู้ลักขุดเอาออกไปก่อนหน้านี้ซึ่งคาดว่าคงไม่น้อยกว่าจำนวนที่เหลือแน่นอน
(สรุปย่อจากหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พระวิเชียรธรรมคณี (ทองพาน) อดีตเจ้าอาวาสวัดคูยางและเจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร พ.ศ.๒๕๓๗ )🙏🙏🙏