( ตัวจริงเส้นต้องบางและต้องพลิวเป็นธรรมชาติ ขอบข้างจะตัดไม่ค่อยเรียบร้อยเป็นเหลี่ยม ๆ รอยตัดเหมือนรอยตัดในพระนางพญา หรือพระซุ้มกอ มีความเก่าได้ยุค 240 กว่าปี )
กล่าวถึงพระกรุวัดชนะสงครามนั้น ตามหลักฐานปรากฏเกี่ยวกับการสร้างและการค้นพบสามารถแบ่งแยกออกเป็น 3 ชุด ดังนี้
ชุดที่ 1 พระวังหน้า ค้นพบเมื่อปี พ.ศ.2496 โดยพระธรรมทัศนาธร (ทองสุก สุทสฺโส) เจ้าอาวาสวัดชนะสงครามสมัยนั้น ได้ขุดพระเจดีย์องค์ใหญ่ซึ่งเป็นองค์ประธาน ปรากฏพระเครื่องหลากหลายพิมพ์ ลักษณะเป็นพระพิมพ์เนื้อดินดิบผสมผงใบลานสีดำ บางองค์เป็นเงางาม ลวดลายเครือเถาชัดเจน เนื้อยุ่ย หักง่าย มีที่เป็นเนื้อดินเผาบ้าง แต่จำนวนน้อยและหายากมาก สีองค์พระจะคล้ายสีหม้อใหม่ มีจุดดำๆ ขึ้นทั่วไป โดยหลักฐานการสร้างและการบรรจุพระเครื่องชุดนี้ เป็นไม้แกะสลักรูปพระสงฆ์ห่มดอง คาดอก นั่งสมาธิ และลงรักปิดทอง ที่ใต้ฐานบรรจุพระธาตุพระอัครสาวกโมคคัลลาน์ ใบลานจารึกอักษรขอมเลอะเลือนผุกร่อน อ่านไม่ชัดเจน พระทองคำทรงแบบวัดตะไกรหน้าครุฑ จึงสันนิษฐานว่าสร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 ปัจจุบันเท่าที่พบในวงการมีน้อยมาก คาดว่าน่าจะเป็นที่หวงแหนของผู้ครอบครอง ค่านิยมจึงค่อนข้างสูงมาก
ชุดที่ 2 พระพิมพ์สมเด็จ ค้นพบเมื่อปี พ.ศ.2515 ที่ใต้ฐานชุกชีประดิษฐานพระประธาน พบพระสมเด็จที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ ทั้งพิมพ์ เนื้อ และขนาด หลายพิมพ์เช่นกัน เนื้อองค์พระสร้างจากผงพระเกสร ดังนั้น บางองค์เนื้อจะพองฟู บางองค์เนื้อแกร่ง และบางองค์เนื้อจะยุ่ยแบบผุ ที่น่าสังเกตอีกประการคือ พระทุกพิมพ์จะค่อนข้างหนา พิมพ์ใหญ่ จะมีลักษณะพิมพ์คล้ายสมเด็จอรหัง ของสมเด็จพระสังฆราช (สุก ไก่เถื่อน) แต่ขนาดเล็กกว่า จากการพิจารณาองค์พระแล้ว สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นพระพิมพ์ที่สร้างในสมัยสมเด็จพระสังฆราช (สุก ไก่เถื่อน) หรือก่อนหน้านั้น
และชุดที่ 3 พระเครื่องหลังสงคราม สร้างโดย ท่านพระครูอุดมวิชัย (ทองม้วน ป.ธ.5) เมื่อปี พ.ศ.2491 เป็นพระเนื้อผง พิมพ์พระประจำวัน 8 ปาง พระสีวลี และพระพุทธกวัก โดยมวลสารเป็นผงพุทธคุณจากพระเกจิชื่อดังทั่วประเทศ ผงของพระพิมพ์จากกรุต่างๆ และดอกไม้นานาชนิดที่หน้าโต๊ะหมู่บูชาพระประธานในพระอุโบสถ รวมทั้งผงและพระหักป่นกรุวัดชนะสงคราม (วังหน้า) ที่ได้สะสมไว้ น้ำซึ่งเป็นส่วนผสมการสร้างพระก็ใช้เฉพาะน้ำพระพุทธมนต์ร้อยปีในพระอุโบสถตรงหน้าพระประธาน น้ำพุทธมนต์ในพระบรมมหาราชวัง และน้ำพระพุทธมนต์จากพระอารามต่างๆ
เมื่อสร้างเป็นองค์พระเรียบร้อยแล้ว ได้ประกอบพิธีพุทธาภิเษกตลอดไตรมาส โดยอาราธนาพระเกจิผู้เรืองเวทวิทยาคุณและเป็นที่เคารพนับถือของประชาชนในยุคนั้นจากภาคต่างๆ ทั่วประเทศไทยรวม 108 รูป เข้าร่วมพิธีปลุกเสก ลักษณะองค์พระไม่นูนมากนัก บางองค์มีจุดสีแดง สีดำ และสีชมพู เนื้อละเอียดแข็งเปราะ เมื่อขัดถูจะมันเงาสวยงาม
พระกรุวัดชนะสงครามทั้ง 3 ชุดนี้ ถือเป็นพระกรุเก่าที่เป็นที่นิยมสะสมและแสวงหาอย่างกว้างขวาง เพราะนอกจากชื่ออันเป็น มงคลแล้ว พุทธคุณยังเป็นเลิศ