พระปิดตาหลวงพ่อเที่ยง วัดบางหัวเสือ ตำบลบางหัวเสือ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ บันทึกเก็บไว้เป็นข้อมูล
หลวงพ่อเที่ยง เกิดในปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๑๐ ที่บ้านบางฝ้าย ตำบลสำโรงใต้ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เป็นบุตรคนที่ ๖ ของนายคบ้าย และนางมอญ
เมื่อเยาว์วัยร่ำเรียนหนังสือกับหลวงปู่บัว เจ้าอาวาสวัดบางหัวเสือ ต่อเมื่ออายุได้ ๒๑ ปีบริบูรณ์ จึงได้อุปสมบท ณ วัดบางหัวเสือ โดยมีหลวงปู่บัว วัดบางหัวเสือ เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อพิณ วัดบางหัวเสือ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และหลวงพ่ออ้น วัดบางหัวเสือ เป็นพระอนุสาวนาจารย์
จากนั้นได้จำพรรษาที่วัดบางหัวเสือ ศึกษาพระธรรมวินัย วิปัสสนากรรมฐาน ตลอดจนพุทธาคม และวิชาแพทย์แผนโบราณจากหลวงปู่บัว ผู้เป็นอุปัชฌาย์
หลวงปู่บัว ซึ่งเล่าขานกันว่าท่านเป็นน้องชายของหลวงปู่จีน วัดท่าลาดเหนือ ตำบลท่าถ่าน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา หากแต่มีข้อมูลบางด้านกล่าวว่าท่านเป็น ‘พี่ชาย’ หลวงปู่จีน แต่จากเอกสาร ‘บาญชีพระสงฆ์เล่ม ๑ วัดบางหัวเสือ’ ที่ได้คัดลอกในสมัยหลวงพ่ออยู่ อดีตเจ้าอาวาสวัดบางหัวเสือ รูปที่ ๔ โดยพระอาจารย์คำ ได้บันทึกไว้ถึงการอุปสมบทของหลวงพ่อพิณ อดีตเจ้าอาวาสวัดบางหัวเสือ รูปที่ ๓ ว่า
“ท่านช้าง วัดโปรดเกษเชฎฐาราม เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงปู่จีน วัดท่าลาดเหนือ (ฉะเชิงเทรา’ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ หลวงปู่บัว วัดบางสีสะเสือ (วัดบางหัวเสือ) เป็นพระอนุสาวนาจารย์”
ซึ่งจากเอกสารดังกล่าวทำให้สันนิษฐานว่าหลวงปู่บัวมีพรรษาอ่อนกว่าหลวงปู่จีน จึงได้ลงไว้เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เพราะฉะนั้นจึงควรเกิดหลังหลวงปู่จีนและบวชหลังหลวงปู่จีน
หลวงพ่อเที่ยงได้ร่ำเรียนวิชากับหลวงปู่บัวเพียง ๓ ปีเท่านั้น หลวงปู่บัวก็มรณภาพลง แต่ ๓ ปีที่ศึกษานั้น กล่าวได้ว่าหลวงพ่อเที่ยงได้รับการถ่ายทอดวิชาไม่น้อยทีเดียว โดยเฉพาะในด้านการสร้างวัตถุมงคลที่สืบทอดต่อจากผู้เป็นอาจารย์
ภายหลังจากสิ้นหลวงปู่บัวไปแล้ว หลวงพ่อพิณ ฉนฺทธมฺโม ซึ่งเป็นพระกรรมวาจาจารย์ของหลวงพ่อเที่ยง ขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสืบต่อ ซึ่งหลวงพ่อเที่ยงได้ศึกษาวิชาต่อกับหลวงพ่อพิณ และเมื่อ หลวงพ่อพิณมรณภาพลงในปี พ.ศ. ๒๔๕๒ นั้น ชาวบ้านได้นิมนต์หลวงพ่อเที่ยงขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัด หากแต่หลวงพ่อเที่ยงไม่มีความต้องการยุ่งเกี่ยวกับการปกครอง ด้วยปรารถนาจะปฏิบัติองค์อย่างสมถะจึงขอเป็นเพียงลูกวัดธรรมดาเท่านั้น จึงได้ยกตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดนี้แก่หลวงพ่ออยู่
แรกนั้นหลวงพ่ออยู่ไม่ยินยอมด้วยเห็นว่าหลวงพ่อเที่ยงนั้นอยู่วัดแห่งนี้มาก่อน แต่หลวงพ่ออยู่นั้นอาสุโสกว่าหลวงพ่อเที่ยง ๒ ปี ย้ายมาจากวัดราชสิทธาราม กรุงเทพมหานคร แต่หลวงพ่อเที่ยงได้อุปสมบทก่อนหลวงพ่ออยู่ ๙ วัน สุดท้ายเมื่อหลวงพ่อเที่ยงปฏิเสธเพราะเห็นว่าหลวงพ่ออยู่อาวุโสกว่าและมีความเชี่ยวชาญในด้านการพัฒนาวัดมากกว่า สุดท้ายหลวงพ่ออยู่จึงต้องรับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสืบต่อ
กระนั้นในยุคสมัยนี้ชาวบ้านบางหัวเสือยึดถือกันว่า เป็นวัด ๒ เจ้าอาวาส กล่าวคือได้ยกย่องหลวงพ่อเที่ยงเสมือนเจ้าอาวาสวัดรูปหนึ่ง
หนึ่งในวัตถุมงคลที่หลวงพ่อเที่ยงได้สร้างขึ้นมา คือ พระปิดตา
เป็นพระปิดตาที่ได้สร้างขึ้นตามกรรมวิธีของหลวงปู่บัวทุกประการ ซึ่งมีขั้นตอนในการสร้าง ดังนี้
เริ่มจากการเก็บสะสมตะกั่วที่มีผู้นำมาถวาย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นตะกั่วที่ได้จากมาจากจังหวัดกาญจนบุรีและสุพรรณบุรี ซึ่งเมื่อเก็บสะสมได้มากพอสมควรแล้ว จึงนำมาหลอมเข้าด้วยกัน ซึ่งในการหลอมนั้นจะผสมปรอทลงไปด้วย แล้วจึงเทเป็นแผ่น แห้งแล้วจึงรีดให้เป็นแผ่นเรียบ
หลังจากรีดเป็นแผ่นแล้ว จึงนำมาลงอักขระตามตำราการสร้างจนครบทุกแผ่น จากขั้นตอนนี้แล้วจะนำแผ่นตะกั่วที่ลงอักขระมาแล้วไปหลอมอีกครั้งหนึ่ง และใส่ปรอทลงไปผสมด้วย แล้วจึงนไชำไปเทลงแม่พิมพ์
เป็นอันเสร็จสิ้นการสร้างพระปิดตา ตามกระบวนการสร้างอย่างของหลวงปู่บัว
พระปิดตาหลวงพ่อเที่ยง เป็นพระปิดตาที่สร้างขึ้นตามกระบวนการหล่อแบบโบราณ แม่พิมพ์ที่ใช้ในการทำแบบเป็นแม่พิมพ์แบบเบ้าประกบ ซึ่งถ้าจะถามถึงความงดงามของพระเครื่องที่สร้างขึ้นด้วยกรรมวิธีการหล่อแบบโบราณแล้ว อาจจะไม่สวยเท่ากับการปั๊ม หรือฉีดอย่างในปัจจุบัน แต่ธรรมชาติของเนื้อหาและรูปทรงแล้วนั้น นับได้ว่าการหล่อโบราณมีความโดดเด่นเป็นอย่างยิ่ง
เมื่อแกะพระออกจากเบ้าแล้ว จะทำการตกแต่งให้เป็นที่สวยงาม จากนี้ไปหลวงพ่อเที่ยงจะนำไปปลุกเสกในกุฏิของท่านเป็นระยะเวลา ๑ พรรษา
พุทธลักษณะของพระปิดตาหลวงพ่อเที่ยงนั้น อาจแตกต่างจากรูปทรงของพระเกจิอาจารย์ท่านอื่นๆ ที่สร้างขึ้นมา ด้านหน้าเป็นองค์พระควัมปติเถระประทับนั่งยองๆ ยกพระชานุ (เข่า) ตั้งทั้งสองข้าง พระชงฆ์ (แข้ง) กับพระโสภี (สะโพก) ทำเป็นเส้นคู่ข้างละเส้น
ความแตกต่างของพระหัตถ์ที่ยกขึ้นปิดตา และส่วนทวารตามตำรับหมาอุตม์ ที่โดยมากมักเป็นพระพาหา (แขน) ถึง ๔ คู่ขึ้นปิดส่วนต่างๆ โดยปกติ แต่ของหลวงพ่อเที่ยงนั้นจะเป็นพระหัตถ์ (มือ) ยกขึ้นปิดพระพักตร์ (หน้า) ไว้ทั้งหมด ปิดพระกรรณ (หู) ทั้งสองข้าง และมีพระหัตถ์อีกข้างแยกจากออกจากพระกัสสปะ (ข้อศอก) ด้านซ้ายล้วงสอดลงระหว่างพระชงฆ์ (แข้ง) ที่ยกตั้งทั้งสองข้างลงมาปิดทวารหนัก
ด้านหลังองค์พระจะทำเป็นพระปางสมาธิขัดราบ พระเศียรโล้นแบบพระอัครสาวก
ด้านข้าง จะเว้าโค้งไปตามสัดส่วนของลำพระองค์ถึง ๓ ส่วน ส่วนแรกเป็นส่วนที่พระเศียรมีพระหัตถ์ยกขึ้นปิดพระกรรณ (หู) ส่วนที่ ๒ เป็นพระปรัศน์ หรือสีข้าง ซึ่งมีพระพาหา (แขน) ยกขึ้นแบบตั้งข้อศอก และส่วนสุดท้ายเป็นพระโสภี หรือสะโพก มีพระอรุรุ (ต้นขา) ที่ยกขึ้นในลักษณะการนั่งยองๆ
ด้านใต้ฐานมีตุ่มเนื้อ ซึ่งคือส่วนที่ใช้เทตะกั่วลงพิมพ์ เป็นเนื้อล้นเกินออกมา
องค์พระโดยประมาณ ขนาดสูง ๑.๘ เ